วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวภาคใต้




แหลมพรหมเทพ เป็นแหลมที่อยู่ใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกกันว่าแหลมเจ้า อยู่ห่างจากหาดราไวย์ประมาณ 2 กม.มีจุดชมวิวที่มีทิวทัศน์สวยงามมากแห่งหนึ่งของภูเก็ต เหนือแหลมพรหมเทพเป็นหน้าผาสูงริมทะเล ทางขวาจะเห็นหาดทรายขาวของหาดในหาน รอบด้านเป็นน้ำทะเลสีเขียวมรกต จากริมหน้าผามีแนวต้นตาลลาดลงสู่ปลายแหลมที่เป็นโขดหิน สามารถเดินไปจนถึงปลายแหลมได้ มีเกาะแก้วอยู่ด้านหน้าในทะเล แหลมพรหมเทพแห่งนี้เป็นที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก แห่งหนึ่งของประเทศไทย


อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองทะเล ตำบลไสไทย ตำบลอ่าวนาง และตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ 242,437 ไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 200,849 ไร่ มีป่าไม้ 3 ประเภท คือ ป่าดงดิบชื้น พบเห็นได้บริเวณเขาสูงชันบริเวณเขาหางนาค เขาอ่าวนาง ป่าชายเลน จะพบบริเวณคลองแห้ง ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ คลองย่านสะบ้า และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณสุสานหอย 40 ล้านปี และป่าพรุ ที่พบต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์ มีสัตว์ต่าง ๆ ที่พบในอุทยานฯ ได้แก่ นกโจรสลัด เหยี่ยวแดง นกออก นกนางแอ่นกินรัง หมูป่า ลิง และค่าง สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวคือเดือนพฤษภาคม - เดือนเมษายน

การเดินทางไปหมู่เกาะพีพี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังหมู่เกาะพีพีได้ทั้งจากกระบี่และภูเก็ต จากท่าเรือเจ้าฟ้าในตัวเมืองกระบี่ มีเรือโดยสารออกจากกระบี่ไปเกาะพีพี วันละ 2 เที่ยว เวลา 10.00 น. และ 14.30 น. และจากเกาะพีพีกลับกระบี่ เรือออกเวลา 09.00 น. และ 13.00 น. ค่าโดยสารคนละ 150 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณสอง ชั่วโมงครึ่ง และมีเรือเร็วนำเที่ยวเช้าไปเย็นกลับ ออกจากอ่าวนาง เวลา 09.00 น. และกลับเวลา 17.00 น. ติดต่อโทร. 0 7563 7152-3 สำหรับบริษัท อันดามัน เวฟ มาสเตอร์ จะมีเรือโดยสารออกจากท่าเรือเจ้าฟ้า เรือออกเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ค่าโดยสารคนละ 200 บาท สนใจสอบถามได้ที่ บริษัท เอ ดี วี จำกัด ถนนข้าวสาร โทร. 0 2281 1463-5 หรือ บริษัท อันดามัน เวฟ มาสเตอร์ จำกัด โทร. 0 7563 0471 ส่วนการเดินทางจากภูเก็ตมีเรือนำเที่ยวเกาะพีพีแบบเช้าไปเย็นกลับ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่บริษัททัวร์ทั่วไปในตัวเมืองภูเก็ต
นอกจากนี้บริเวณอ่าวต้นไทรบนเกาะพีพีดอน มีเรือหางยาวให้เช่าไปเที่ยวตามชายหาดต่าง ๆ รวมถึงเกาะพีพีเลด้วย บริษัท พีพี แฟมิลี่ จำกัด โทร. 0 7561 2463
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พ.พ.4 (ทับแขก) เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ ใช้เส้นทางตามทางหลวง 4200 จนถึงสี่แยกคลองจิหลาด เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 4034 ตรงไปถึงสามแยกบ้านหนองทะเล เลี้ยวซ้ายตรงไปบ้านคลองม่วง และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงไปที่ทำการหน่วยพิทักษ์ฯ ระยะทาง 38 กิโลเมตร พื้นที่เป็นภูเขาที่สมบูรณ์ด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า มีจุดชมวิวที่สวยงามคือหงอนนาค ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของทะเลกระบี่ได้อย่างสวยงาม หน่วยพิทักษ์ฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ต้องมีคนนำทาง


เกาะพยาม เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากเกาะช้าง อยู่ห่างเกาะช้างมา ทางใต้ 4 กิโลเมตร ตอนกลางของเกาะพื้นที่เป็นภูเขามีป่าไม้และสัตว์ป่าประเภทนก ลิงและหมูป่า พื้นที่บางส่วนถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวน ชาวบ้านบนเกาะมีอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยางและสวนกาหยู
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รอบๆ ชายฝั่งเป็นอ่าวสลับกับโขดหิน บริเวณตอนกลางของอ่าวเป็นหาดทราย ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าเกาะ มี อ่าวไผ่ อยู่เหนือสุด ถัดมาเป็นอ่าวหินขาว ลงมาอีกหน่อยบริเวณอ่าวแม่หม้ายช่วงหน้าวัดที่มีสะพานทางเดินไปสู่โบสถ์ที่ยื่นลงไปในทะเล ถัดไปเป็นสะพานท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ของเกาะพยาม ใกล้เคียงจะมีเรือประมงของชาวบ้านจอดพัก บริเวณอ่าวแม่หม้ายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าของเกาะพยาม พ้นจากอ่าวแม่หม้ายผ่านแหลมหินลงมาทางใต้ จะเห็น อ่าวมุก ใกล้ๆกันห่างฝั่งไม่มากนักคือ เกาะขาม เกาะเล็ก ๆ ที่เมื่อยามน้ำขึ้นเห็นแยกเป็นสองเกาะ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า เกาะปลาวาฬ สืบเนื่องจากรูปร่างของเกาะเมื่อน้ำลดจะมีสันทรายกว้างใหญเป็นทางเดินเชื่อมทั้งสองเกาะเข้าหากัน
ฝั่งตะวันตกที่หันหน้าสู่ทะเลอันดามัน เหนือสุดเป็นโขดหิน ถัดพ้นลงมา อ่าวเขาควาย อ่าวที่มีหาดทรายกว้างทอดยาวโค้งเหมือนเขาควายกว่า 4 กิโลเมตร วกลงมาทางใต้ผ่านโขดหินลงผ่าน แหลมหรั่ง ลงมาถึง อ่าวใหญ่ ชายหาดของอ่าวถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยลำคลองเล็ก ๆ หาดทรายของอ่าวใหญ่เป็นหาดทรายกว้างแบบเดียวกันกับหาดทรายของ อ่าวเขาควาย
เกาะพยามเป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง มีประชากรประมาณ 500 คน บนเกาะมีสถานีอนามัย โรงเรียน และวัดที่มีพระอุโบสถกลางน้ำบนหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ มองเห็นสวยเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล มีท่าเทียบเรือประมงแบบคอนกรีตที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา มีถนนเล็ก ๆ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังอ่าวต่าง ๆ บนเกาะ ปัจจุบันยังไม่มีไฟฟ้าใช้ คงมีแต่ไฟฟ้าของเอกชนที่ปั่นไฟฟ้าใช้ในกิจการของตนเอง ชาวเกาะพยามรุ่นแรก ๆ อพยพมาจากเกาะสมุย เกาะพยามเป็นแหล่งผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพดี จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งกาหยูหวานของจังหวัดระนอง อ่าวแม่หม้ายเป็นประตูใหญ่สู่เกาะพยาม หน้าอ่าวมีสะพานท่าเทียบเรือเมื่อเดินเข้าถึงฝั่งมีป้ายต้อนรับผู้มาเยือน มีเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงรายทั้ง 2 ฟากของสะพาน บริเวณใกล้เคียงแหล่งชุมนุมหลัก มีร้านขายอาหารและของใช้ประจำวัน เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายหลักที่ ลักษณะเป็นถนนคอนกรีตความกว้างประมาณ 3 เมตร ตัดผ่านชุมนุมเลียบอ่าวแม่หม้าย มีทางแยกตัดตรงไปสู่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรของเกาะ มีมอเตอร์ไซด์รับจ้างและให้เช่าที่บริเวณตลาด มีแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรและแสดงลักษณะพื้นผิวของเกาะที่เป็นพื้นทราย แหล่งปะการัง และโขดหิน
การเดินทางมายังเกาะพยาม : ท่าเทียบเรือไปเกาะพยามใช้ร่วมกับเกาะช้าง อยู่ในซอยข้างสถานีตำรวจปากน้ำ ปกติจะมีเรือเมล์เดินทางออกจากท่าเรือระนองไปยังเกาะพยามทุกวัน วันละ 2 เที่ยว เที่ยวเช้าเวลา 09.00 น. และเที่ยวบ่ายเวลา 14.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เที่ยวกลับจะมีเรือออกจากท่าเทียบเรือเกาะพยามทุกวันเวลา 08.00 น.และเวลา 15.00 น. จากท่าเทียบเรือบนเกาะพยามจะต้องอาศัยมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปส่งยังบังกะโลที่พักซึ่งอยู่ห่างออกไป ประมาณ 5 กิโลเมตรสำหรับอ่าวใหญ่ และประมาณ 2 กิโลเมตรเศษสำหรับอ่าวเขาควาย บังกะโลที่พักบนเกาะพยาม : มีบังกะโลแบบมาตรฐานที่มีบริการที่พัก อาหาร และบริการนำเที่ยว และบังกะโลที่เป็นแบบของชาวบ้านทั่วไปที่ให้บริการที่พักและอาหรแบบชาวบ้าน เช่นเดียวกับบังกะโลบนเกาะช้าง

ท่องเที่ยวภาคกลาง








อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี น้ำตกเอราวัณเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยอาณาเขตกว้างขวางประกอบไปด้วยภูเขาสูง หน้าผา น้ำตก ถ้ำ และทิวทัศน์ที่งดงามตามธรรมชาติ ทั้งการคมนาคมที่สะดวก จึงทำให้อุทยานแห่งชาติเอราวัณเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก โดยมีเนื้อที่ประมาณ 550 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,750 ไร่
การเดินทาง : การเดินทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ สายที่ 1 เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 ถึงเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 66 กิโลเมตร สายที่ 2 เดินทางมาจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ตอนใต้น้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 323 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-579-7223, 02-579-5734 ลักษณะภูมิประเทศ : อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 165.966 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ โดยภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน(Lime stone) ในแถบตะวันออกของพื้นที่จะยกสูงขึ้นเป็นแนว โดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณ จะมีลักษณะเป็นหน้าผา ในพื้นที่ซีกตะวันออกจะมีลำห้วยที่สำคัญคือ ห้วยม่องไล่ และห้วยอมตะลา ซึ่งไหลมาบรรจบกันกลายมาเป็นน้ำตกเอราวัณ ทางตอนเหนือของพื้นที่จะพบห้วยสะแดะ และห้วยหนองมน โดยห้วยสะแดะจะระบายน้ำลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนห้วยหนองมนจะไหลไปรวมกับห้วยไทรโยค ก่อให้เกิดน้ำตกไทรโยค ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ลำห้วยเขาพัง ก่อให้เกิดน้ำตกที่สวยงามซึ่งเรียกกันว่าน้ำตกเขาพัง หรือน้ำตกไทรโยคน้อย ลักษณะภูมิอากาศ : อุทยานแห่งชาติเอราวัณ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือช่วยพัดพาให้เกิดฝน เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน จึงมีปริมาณน้ำฝนตกไม่มากนักและอากาศค่อนข้างร้อน จากลักษณะอากาศดังกล่าว จึงไม่เป็นปัญหาต่อการเที่ยวชมอุทยานฯในแต่ละฤดู พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า : สภาพป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนทอง มะกอก ยมหอม ตะแบก ฯลฯ นอกนั้นเป็นป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้คือ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม เป็นต้น สัตว์ป่าประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ นกแว่น นกกระแตแต้แว้ด ไก่ฟ้าพญาลอ นกกะปูด นกกางเขนดง นกสาลิกา นกขุนทอง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า กระต่ายป่า กระรอกบิน เสือ เป็นต้น น้ำตกเอราวัณเป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตรติดต่อกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆได้ 7 ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นมีความสวยงาม ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่าหลายชนิดบนคาคบไม้ สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง และเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมีคุณค่าของป่าเขาลำเนาไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่หาความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตก เมื่อมีน้ำตกไหลบ่าจะมีรูปคล้ายหัวช้างเอราวัณจนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่าน้ำตกเอราวัณ น้ำตกผาลั่นเป็นน้ำตกชั้นเดียวมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ถ้ำพระธาตุเป็นถ้ำที่สวยงาม มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 790 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 12 กิโลเมตร ถ้ำวังบาดาลเป็นถ้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็นห้องๆ มีหินงอกหินย้อย ที่เป็นประกาย รูปลักษณะต่างๆกัน อยู่ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 54 กิโลเมตร เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 1. เส้นทางขันหมากหมูกลิ้งเป็นเส้นทางเดินเท้าระยะทาง 1,390 เมตร เป็นเส้นทางเดินเป็นวงกลม เริ่มจากสถานที่จอดรถและวนกลับมาลานจอดรถเหมือนเดิม เป็นเส้นทางเดินสบาย ใช้เวลาในการเดินตลอดเส้นทาง ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยตลอดเส้นทางจะปรากฎความหลากหลายของสังคมพืช สามารถจำแนกชนิดของป่าออกตาม ลักษณะของสังคมพืชได้เป็น 2 ชนิด คือ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เส้นทางนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นเส้นทางเดินที่ไม่ลำบากมากนัก จุดเด่นของเส้นทางนี้ก็คือ ว่านขันหมากและกล้วยไม้ดินหมูกลิ้งที่มีมากในเส้นทาง สถานีในเส้นทางนี้ประกอบด้วย บ้านโบราณ-ผู้ย่อยสลาย-พรมธรรมชาติ-เหลือแต่ตอ-ยาอายุวัฒนะ- หญ้าที่สูงที่สุดในโลก-ความพิการของต้นไม้-หมูกลิ้ง-สังคมใหม่ 2. เส้นทางเขาหินล้านปีเป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,940 เมตร เริ่มต้นจากลานจอดรถไปบรรจบกับ เส้นทางในน้ำตกบริเวณสะพานน้ำตกชั้นที่ 4 ใช้เวลาเดินประมาณสองชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะปรากฏความหลากหลายของสังคมพืช สามารถจำแนกลักษณะของป่าออกเป็น 3 ชนิด คือ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง และในเส้นทางนี้จะมีจุดชมวิวที่สวยงามหลายจุด สามารถมองเห็น น้ำตก(หัวช้างเอราวัณ) ในฤดูน้ำหลากได้ชัดเจนที่สุด และใกล้ที่สุดอีกด้วย เส้นทางนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความท้าทาย และจะต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงพอสมควร จุดเด่นของเส้นทางนี้ จะเป็นภูเขาหินปูนและความหลากหลายทางธรรมชาติ สถานี้ในเส้นทางนี้ประกอบด้วย การทดแทน-บ้านโบราณ-บ้านเลียงผา-เล็กพริกขี้หนู-กล้วยไม้ดิน-หินแยก- จันทร์ผาล้านปี-ป่าเต็งรัง-อัญมณีแห่งป่า-เขาหินล้านปี-ผาไทรงาม-ป่าดิบแล้ง 3. เส้นทางป่าดิบแล้งม่องไล่เป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,010 เมตร เป็นเส้นทางเดินเลียบริมห้วยม่องไล่ เริ่มจากสะพานค่ายพัก ไปบรรจบเส้นทางเดินในน้ำตกชั้นที่ 3 เส้นทางจะเลาะแนวน้ำตกเกือบตลอดเส้นทาง สภาพป่าในเส้นทางนี้จะเป็นป่าดิบแล้ง และป่าทดแทน เส้นทางนี้เหมาะสำหรับบุคคลที่ชอบเดินสบายไม่ลำบากมากนัก และมีความต้องการที่จะเดินชมน้ำตก เหมาะสำหรับบุคคลทุกวัย จุดเด่นของเส้นทางนี้อยู่ที่ความหลากหลายของป่าดิบแล้ง ที่มีพรรณไม้หลากหลายชนิด และความร่มรื่นของเส้นทาง และได้ชมน้ำตกด้วย สถานี้ในเส้นทางประกอบไปด้วย กระจอกที่ไม่กระจอก-รากไม้มหัศจรรย์-การปรับตัวของไม้ใหญ่-ภัยธรรมชาติ- แก่หรือไม่แก่-เกิดจากป่า-ภัตตาคารป่า-ชีวิตใหม่ในป่าทดแทน 4. เส้นทางถ้ำวังบาดาลเป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,350 เมตร เริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ (วังบาดาล) ผ่านป่าไผ่และป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตลอดเส้นทางจะพบพืชที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยครั้งนัก เช่น เห็ดถ้วยและดอกดิน ที่จะพบได้ในฤดูฝน เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะไปชมถ้ำวังบาดาล จุดเด่นของเส้นทางนี้ก็คือ ถ้ำวังบาดาลนั่นเอง สถานีในเส้นทางประกอบไปด้วย หญ้าหนามที่แข็งที่สุดในโลก-แหธรรมชาติ-ไม้มหัศจรรย์-ป่าดิบแล้ง-ค้ำยัน-ถ้ำวังบาดาล




ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ถนนสละชีพ เป็นศิลปะเแบบลพบุรี สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมืองนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง
วัดถ้ำเขาคั่นกระได ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีทางเข้าแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๓๑๔ เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดเล็กประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ในอดีตถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝนอ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ อ่าวมะนาว ทั้ง ๓ อ่าวอยู่หน้าเมืองประจวบฯมีทิวทัศน์สวยงามเหมาะต่อการออกกำลังกายเช่น วิ่ง ขี่จักรยานเลียบชายทะเล โดยอ่าวน้อยและอ่าวประจวบฯมีถนนเลียบชายหาดเชื่อมโยงถึงกัน อ่าวน้อย มีทิวสนขนานไปกับถนน อ่าวประจวบฯ มีบาทวิถีให้เดินชมทะเลได้อย่างใกล้ชิดส่วนอ่าวมะนาว ซึ่งอยู่ในเขตกองบินที่ ๕๓ กองทัพอากาศ เป็นหาดที่เหมาะแก่การเล่นน้ำตรงข้ามกับหาดเป็นเขาล้อมหมวก ยามน้ำลดจะปรากฏสันทรายทอดยาวให้เดินไปเที่ยวชมได้อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์วีรชนและจัดงานวันรำลึกวีรกรรม ๘ ธันวาคม ทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักผ่อนได้มีร้านอาหารและบริการบ้านพัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบิน ๕๓ โทร. (๐๓๒) ๖๖๑๐๘๘ ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเขาช่องกระจก เป็นภูเขาขนาดเล็กมีลิงเสนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันไดขึ้นไปจนถึงยอดเขา เป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธบาทจำลอง ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งดูคล้ายกับกรอบของกระจก จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง และอ่าวทั้งสามได้อย่างสวยงามอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ของไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแห่งนี้ และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ และทูตานุฑูตชาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จากตัวเมืองเดินทางมาทางทิศใต้ ๑๒ กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ ๓๓๕–๓๓๖ จะมีทางแยกเข้าหว้ากอทางด้านซ้ายมือ ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย อาคารดาราศาสตร์และอวกาศ พิพิธภัณฑ์บ้านหว้ากอ และในอนาคตจะมี พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ท้องฟ้าจำลอง สถานีรถไฟหว้ากอ เป็นต้น



ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน ๙๙๙ ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ ๑๐๐ ปี
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนอาคารหลัก ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน และ อีกส่วนคือส่วนอาคารผนวก ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ของศูนย์แห่งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นคือ การพยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยการนำเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาใช้จัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น ๕ หัวข้อ คือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติ และชีวิตชุมชนชาวบ้านไทย ทั้งนี้นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการมาแล้ว ศูนย์แห่งนี้เปิดทำการทุกวัน(วันจันทร์-ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐น.) อัตราค่าเข้าชมสำหรับนักเรียน และนักศึกษา ในเครื่องแบบ ๕ บาท ประชาชนทั่วไป ๒๐ บาท นักเรียนต่างชาติ ๕๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (๐๓๕)๒๔๕๑๒๓-๔วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” เพราะแต่เดิมนั้นพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว วัดนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ ๒ ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง ๖ องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย ๕ องค์และในประเทศอินโดนีเซีย ๑ องค์ ในประเทศไทยอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ๒ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ๑ องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณนอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำ ทองกร พาหุรัด ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆเป็นต้น แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (๐๓๕) ๒๔๑๕๘๗คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๓๗ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ปรีดี พนมยงค์นายรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปีพ.ศ.๒๔๙๙ และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้ การเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม จะเห็นสามแยกแล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือปางช้างอยุธยา แล เพนียด อยู่ติดกับคุ้มขุนแผน มีบริการขี่ช้างทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐น. ราคาประมาณ ๑๐๐-๕๐๐ บาทขึ้นอยู่กับระยะเวลา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. (๐๓๕) ๒๑๑๐๐๑, ๓๒๑๙๘๒, (๐๑)๘๒๑-๗๐๖๕, (๐๑)๘๓๒-๕๓๑๑, (๐๑)๘๕๒–๔๕๒๗วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตรและสูง ๑๒.๔๕ เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพ.ศ.๒๑๔๕สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ผ่าลงมาไหม้เครื่องบนพระมณฑปเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นหลังคาพระวิหารธรรมดาแทน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเฑียรให้เป็นวัดภายในพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒โปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๕ องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางในปัจจุบันเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระบรมเชษฐา ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๐๔๒ ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปีพ.ศ.๒๐๔๓ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา(๑๖ เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (ประมาณ ๑๗๑ กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหารถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงพ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด สำหรับเจดีย์องค์ที่สาม ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังการะหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั้นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างเพิ่มในภายหลัง ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐–๑๖.๓๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๓ โทร (๐๓๕) ๒๔๒๕๐๑, ๒๔๒๔๔๘ หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐น.-๒๑.๐๐น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถานพระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่๑(พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อพ.ศ.๑๘๙๐ และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปีพ.ศ.๑๘๙๓ จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรีบริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุขหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม ๒ ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๖ เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ
พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันถึงห้าชั้น มีมุขเด็จยื่นออกมาเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลงมีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ติดกำแพงริมแม่น้ำ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ ตามพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้อัญเชิญพระบรมศพจากเมืองลพบุรีมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๑๗๕ พระราชทานนามว่า“พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์’’”คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น“พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกหัดทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระที่นั่งตรีมุข เป็นพระที่นั่งศาลาไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยาน เป็นพระที่นั่งองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หรือ พระที่นั่งท้ายสระ เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับอยู่ข้างในและเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถเมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑ และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
พระที่นั่งทรงปืน เป็นพระที่นั่งรูปยาวรี อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงคก์รัตนาสน์ เข้าใจว่าเป็นที่สำหรับฝึกซ้อมอาวุธและในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง

ท่องเที่ยวภาคอีสาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 จารึกต่างๆที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร (พ.ศ.1487 – 1511)ได้สถาปนาเทวาลัยถวายพระอิศวรที่ขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรกๆคงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ.1511 – 1544)ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง
พนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิม ซึ่งปรากฏหลักฐานตามศิลาจารึกที่ค้นพบปราสาทแห่งนี้ ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือ พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน ถัดจากนั้นเป็นทางเดินทั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่าเสานางเรียง จำนวนข้างละ 34 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช ซึ่งผังกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผุ้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลานปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วงๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้มกากบาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤาษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย ปราสาทประธาน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตรสูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17 ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวะลึงค์เท่านั้น ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่า ปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตาลำดับ ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอา๕รสองหลัง ก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่นพระศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) พระนารายณ์บรรทมสินธุ์อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระรามในเรื่องรามเกียรติ์ หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤาษีเป็นต้นกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะตั้งปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ มีการพัฒนาและปรับปรุงดำเนินการเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2531ศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ อาจเป็นเพราะภูเขามีความสูงไม่มากนักและปากภูเขาไฟยังเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย ประการสำคัญคือความเชื่อของคนพื้นถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ เชื่อว่าในธรรมชาติมีวิญญาณที่สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีและไม่ดีได้แก่มนุษย์ได้ จึงมีการนับถือภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตในอดีต นอกจากนี้ การสร้างปราสาทบนภูเขายังพ้องกับคตความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เปรียบปราสาทหินดั่งเทวาลัยของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล ชุมชนที่เขาพนมรุ้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะนอกจากมีบารายหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งใช้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิมเป็นอ่างเก็บน้ำอยู่บนเขาอยู่แล้ว ที่เชิงเขามีบารายอีก 2 สระ คือสระน้ำหนองบัวบารายที่เชิงเขาพนมรุ้ง และสระน้ำโคกเมืองใกล้ปราสาทเมืองต่ำ สระน้ำบนพื้นราบเบื้องล่างภูพนมรุ้งนี้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลมาจากบนเขา นอกจากนี้ยังมีกุฏิฤาษีอยู่ 2 หลัง เป็นอโรคยาศาลที่รักษาพยาบาลของชุมชนอยู่เชิงเขาด้วย บริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งอาจเคยเป็นที่ตั้งของศาสนพื้นถิ่นมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นเป็นปราสาท ที่มีความใหญ่โตงดงาม สมกับเป็น กมรเตงชคตวฺนํรุง ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งปราสาทพนมรุ้ง อันหมายถึงองค์พระศิวะในศาสนาฮินดูที่กษัตริย์ขอมทรงนับถือ การเปลี่ยนสถานที่เคารพพื้นถิ่นให้เป็นปราสาทกินตามแบบคติขอม น่าจะเกี่ยวเนื่องกับ การเปลี่ยนลักษณะการเมืองการปกครอง ที่ผู้นำท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์ขอมโดยใช้ระบบความเชื่อมทางศาสนา วัฒนธรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ปราสาทพนมรุ้งได้รับการบูรณะด้วยกรรมวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นการบูรณะโบราณสถานโดยทำสัญลักษณ์ของชิ้นส่วนต่างๆก่อนจะรื้ออกเพื่อเสริมรากฐาน และนำชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบขึ้นใหม่ตามเดิมซึ่งวิธีการเช่นนี้ใช้กับปราสาทหินหลายแห่ง เช่นปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน เป็นต้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (เมษายน) ของทุกปีมีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี โดยในวันนี้พระอาทิตย์แรกแห่งอรุณจะสาดส่องทะลุผ่านประตูทั้ง 15 ช่องชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชนสถานที่ตั้งปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาทำการ 06.00 น. – 18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท การเดินทางจากอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 24 ประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงสามแยกโรงเรียนบ้านตะโกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ตรงไปราว 6 กิโลเมตร ถึงบ้านตาเป๊ก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2221 อีก 6 กิโลเมตร รถประจำทางรถโดยสารจากกรุงเทพฯ – เขาพนมรุ้ง ลงที่เชิงเขาแล้วต่อรถสองแถวขึ้นปราสาทรถสายบุรีรัมย์ – นางรอง ลงสถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถว





เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๗ มีพื้นที่ประมาณ ๕๖๐,๕๙๓ ไร่สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง
ฤดูกาลบนภูหลวงมี ๓ ฤดูเหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๐-๒๔ องศาเซลเซียสจะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาวและกุหลาบแดง ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็กๆสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย ๐-๑๖ องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง –๔ องศาเซลเซียสจะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล จะเปลี่ยนสีแดง แล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า ๑๒๐ ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน เส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวง เป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ ๒.๓ กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง การเดินทางขึ้นภูหลวง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๙๔๔๖ ช่วงที่เหมาะในการเที่ยวชมภูหลวงคือระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคม ภูหลวงจะปิดในช่วงฤดูฝน








อุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์
ลักษณะเด่นของอุทยานฯแห่งนี้คือเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่คล้าใบบอนหรือรูปหัวใจ มีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูง ๔๐๐-๑,๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวป่าเขาที่ภูกระดึง นักท่องเที่ยวควรสำรวจสุขภาพตัวเองก่อนว่าพร้อมจะเดินและปีนป่ายเขาที่มีระยะทางร่วม ๙ กิโลเมตร (ขึ้นเขา ๕ กิโลเมตร ทางราบอีกประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร) เพื่อจะขึ้นไปบนที่ราบยอดภูได้หรือไม่ อุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึงเส้นทางขึ้นภูกระดึง ทางขึ้นค่อนข้างชันแต่จะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ผานกแอ่น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายนผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง นอกจากนี้ยังมี ผาหมากดูก น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกถ้ำสอเหนือ น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาต เป็นต้น การเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-เลย แล้วลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง จากจุดนี้จะมีรถสองแถวไปอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึงหรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ชุมแพแล้วลงที่ตลาดชุมแพแล้วต่อรถสายชุมแพ-ผานกเค้า ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งจะมีรถสองแถวไปอุทยานฯ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัวจากตัวเมืองเลยใช้เส้นทางหมายเลข ๒๐๑(เลย-ภูกระดึง) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ ๗๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๙ อีก ๘ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่คนละ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ ๑๐ บาท นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ โทร.๐ ๔๒๘๗ ๑๓๓๓ หรือที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓ ,๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะปิดระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ทุกปี เพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวและปรับปรุงสถานที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวภาคเหนือ







สวนสัตว์เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่มีสัตว์มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีหมีแพนด้า ฑูตสันถวไมตรีเชื่อมความสัมพันธ์ไทย - จีน ที่ตอนนี้มีสมาชิกใหม่เพิ่มมาอีก 1 ตัวแล้ว มีหมีโคอาล่าจากออสเตรเลีย เชียงใหม่ ซู อควาเรียม ศูนย์แสดงสัตว์น้ำมีอุโมงค์ยาว 133 เมตร สวนนกเพนกวิน และสวนนกฟิ้นช์ ซึ่งเป็นนกขนาดเล็ก มีสีสันสวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็น อัญมณีบินได้ มีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวพร้อมระบบปรับอากาศ บริการรับผู้โดยสารได้ครั้งละ 50 - 70 คน/ เที่ยว ระยะทางวิ่ง 2 กิโลเมตร จอดรับส่งผู้โดยสาร 4 สถานี เปิดทุกวัน เวลา 8.00 - 18.00 น. เปิดขายบัตรถึงเวลา 17.00 น.




วัดพระสิงห์วรวิหาร ตั้งอยู่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนามานับแต่อดีต พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในปี พ.ศ. 1888 พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่องค์หนึ่ง คือ พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร
ตามประวัติของพระพุทธสิหิงส์นั้นเล่าไว้ว่า พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เพื่อไปประดิษฐานไว้ยังวัดสวนดอก แต่พอราชรถมาถึงวัดลีเชียง ก็ปรากฎว่าติดขัดไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก ดังนั้นพระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดลีเชียงนี้ ประชาชนนิยมเรียกพระพุทธสิงหิงค์สั้นๆ ว่า พระสิงห์ จึงได้เรียกชื่อวัดพระสิงห์ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
ความเชื่อและวิธีการบูชา พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

ถ้ำเชียงดาว อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 72 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าไปจนถึงถ้ำอีก 5 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจนถึงบริเวณถ้ำ มีบริเวณจอดรถกว้างขวาง ทางเข้าถ้ำเป็นบันไดมีหลังคามุงสังกะสี หน้าถ้ำมีธารน้ำไหลผ่านเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ หากต้องการชมบริเวณถ้ำ ติดต่อคนนำทางได้บริเวณหน้าถ้ำ