วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวภาคอีสาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 จารึกต่างๆที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร (พ.ศ.1487 – 1511)ได้สถาปนาเทวาลัยถวายพระอิศวรที่ขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรกๆคงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ.1511 – 1544)ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง
พนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิม ซึ่งปรากฏหลักฐานตามศิลาจารึกที่ค้นพบปราสาทแห่งนี้ ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือ พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน ถัดจากนั้นเป็นทางเดินทั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่าเสานางเรียง จำนวนข้างละ 34 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช ซึ่งผังกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผุ้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลานปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วงๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้มกากบาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤาษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย ปราสาทประธาน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตรสูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17 ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวะลึงค์เท่านั้น ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่า ปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตาลำดับ ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอา๕รสองหลัง ก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่นพระศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) พระนารายณ์บรรทมสินธุ์อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระรามในเรื่องรามเกียรติ์ หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤาษีเป็นต้นกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะตั้งปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ มีการพัฒนาและปรับปรุงดำเนินการเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2531ศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟ อาจเป็นเพราะภูเขามีความสูงไม่มากนักและปากภูเขาไฟยังเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย ประการสำคัญคือความเชื่อของคนพื้นถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ เชื่อว่าในธรรมชาติมีวิญญาณที่สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีและไม่ดีได้แก่มนุษย์ได้ จึงมีการนับถือภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตในอดีต นอกจากนี้ การสร้างปราสาทบนภูเขายังพ้องกับคตความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เปรียบปราสาทหินดั่งเทวาลัยของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล ชุมชนที่เขาพนมรุ้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะนอกจากมีบารายหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งใช้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิมเป็นอ่างเก็บน้ำอยู่บนเขาอยู่แล้ว ที่เชิงเขามีบารายอีก 2 สระ คือสระน้ำหนองบัวบารายที่เชิงเขาพนมรุ้ง และสระน้ำโคกเมืองใกล้ปราสาทเมืองต่ำ สระน้ำบนพื้นราบเบื้องล่างภูพนมรุ้งนี้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลมาจากบนเขา นอกจากนี้ยังมีกุฏิฤาษีอยู่ 2 หลัง เป็นอโรคยาศาลที่รักษาพยาบาลของชุมชนอยู่เชิงเขาด้วย บริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งอาจเคยเป็นที่ตั้งของศาสนพื้นถิ่นมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นเป็นปราสาท ที่มีความใหญ่โตงดงาม สมกับเป็น กมรเตงชคตวฺนํรุง ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งปราสาทพนมรุ้ง อันหมายถึงองค์พระศิวะในศาสนาฮินดูที่กษัตริย์ขอมทรงนับถือ การเปลี่ยนสถานที่เคารพพื้นถิ่นให้เป็นปราสาทกินตามแบบคติขอม น่าจะเกี่ยวเนื่องกับ การเปลี่ยนลักษณะการเมืองการปกครอง ที่ผู้นำท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์ขอมโดยใช้ระบบความเชื่อมทางศาสนา วัฒนธรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ปราสาทพนมรุ้งได้รับการบูรณะด้วยกรรมวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นการบูรณะโบราณสถานโดยทำสัญลักษณ์ของชิ้นส่วนต่างๆก่อนจะรื้ออกเพื่อเสริมรากฐาน และนำชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบขึ้นใหม่ตามเดิมซึ่งวิธีการเช่นนี้ใช้กับปราสาทหินหลายแห่ง เช่นปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน เป็นต้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (เมษายน) ของทุกปีมีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี โดยในวันนี้พระอาทิตย์แรกแห่งอรุณจะสาดส่องทะลุผ่านประตูทั้ง 15 ช่องชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชนสถานที่ตั้งปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาทำการ 06.00 น. – 18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท การเดินทางจากอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 24 ประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงสามแยกโรงเรียนบ้านตะโกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ตรงไปราว 6 กิโลเมตร ถึงบ้านตาเป๊ก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2221 อีก 6 กิโลเมตร รถประจำทางรถโดยสารจากกรุงเทพฯ – เขาพนมรุ้ง ลงที่เชิงเขาแล้วต่อรถสองแถวขึ้นปราสาทรถสายบุรีรัมย์ – นางรอง ลงสถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถว





เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๗ มีพื้นที่ประมาณ ๕๖๐,๕๙๓ ไร่สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง
ฤดูกาลบนภูหลวงมี ๓ ฤดูเหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๐-๒๔ องศาเซลเซียสจะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาวและกุหลาบแดง ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็กๆสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย ๐-๑๖ องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง –๔ องศาเซลเซียสจะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล จะเปลี่ยนสีแดง แล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า ๑๒๐ ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน เส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวง เป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ ๒.๓ กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง การเดินทางขึ้นภูหลวง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๙๔๔๖ ช่วงที่เหมาะในการเที่ยวชมภูหลวงคือระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคม ภูหลวงจะปิดในช่วงฤดูฝน








อุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์
ลักษณะเด่นของอุทยานฯแห่งนี้คือเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่คล้าใบบอนหรือรูปหัวใจ มีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูง ๔๐๐-๑,๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวป่าเขาที่ภูกระดึง นักท่องเที่ยวควรสำรวจสุขภาพตัวเองก่อนว่าพร้อมจะเดินและปีนป่ายเขาที่มีระยะทางร่วม ๙ กิโลเมตร (ขึ้นเขา ๕ กิโลเมตร ทางราบอีกประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร) เพื่อจะขึ้นไปบนที่ราบยอดภูได้หรือไม่ อุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึงเส้นทางขึ้นภูกระดึง ทางขึ้นค่อนข้างชันแต่จะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ผานกแอ่น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายนผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง นอกจากนี้ยังมี ผาหมากดูก น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกถ้ำสอเหนือ น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาต เป็นต้น การเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-เลย แล้วลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง จากจุดนี้จะมีรถสองแถวไปอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึงหรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ชุมแพแล้วลงที่ตลาดชุมแพแล้วต่อรถสายชุมแพ-ผานกเค้า ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งจะมีรถสองแถวไปอุทยานฯ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัวจากตัวเมืองเลยใช้เส้นทางหมายเลข ๒๐๑(เลย-ภูกระดึง) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ ๗๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๙ อีก ๘ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่คนละ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ ๑๐ บาท นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ โทร.๐ ๔๒๘๗ ๑๓๓๓ หรือที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓ ,๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะปิดระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ทุกปี เพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวและปรับปรุงสถานที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว

1 ความคิดเห็น: