วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวภาคใต้




แหลมพรหมเทพ เป็นแหลมที่อยู่ใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกกันว่าแหลมเจ้า อยู่ห่างจากหาดราไวย์ประมาณ 2 กม.มีจุดชมวิวที่มีทิวทัศน์สวยงามมากแห่งหนึ่งของภูเก็ต เหนือแหลมพรหมเทพเป็นหน้าผาสูงริมทะเล ทางขวาจะเห็นหาดทรายขาวของหาดในหาน รอบด้านเป็นน้ำทะเลสีเขียวมรกต จากริมหน้าผามีแนวต้นตาลลาดลงสู่ปลายแหลมที่เป็นโขดหิน สามารถเดินไปจนถึงปลายแหลมได้ มีเกาะแก้วอยู่ด้านหน้าในทะเล แหลมพรหมเทพแห่งนี้เป็นที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก แห่งหนึ่งของประเทศไทย


อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองทะเล ตำบลไสไทย ตำบลอ่าวนาง และตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ 242,437 ไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 200,849 ไร่ มีป่าไม้ 3 ประเภท คือ ป่าดงดิบชื้น พบเห็นได้บริเวณเขาสูงชันบริเวณเขาหางนาค เขาอ่าวนาง ป่าชายเลน จะพบบริเวณคลองแห้ง ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ คลองย่านสะบ้า และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณสุสานหอย 40 ล้านปี และป่าพรุ ที่พบต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์ มีสัตว์ต่าง ๆ ที่พบในอุทยานฯ ได้แก่ นกโจรสลัด เหยี่ยวแดง นกออก นกนางแอ่นกินรัง หมูป่า ลิง และค่าง สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวคือเดือนพฤษภาคม - เดือนเมษายน

การเดินทางไปหมู่เกาะพีพี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังหมู่เกาะพีพีได้ทั้งจากกระบี่และภูเก็ต จากท่าเรือเจ้าฟ้าในตัวเมืองกระบี่ มีเรือโดยสารออกจากกระบี่ไปเกาะพีพี วันละ 2 เที่ยว เวลา 10.00 น. และ 14.30 น. และจากเกาะพีพีกลับกระบี่ เรือออกเวลา 09.00 น. และ 13.00 น. ค่าโดยสารคนละ 150 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณสอง ชั่วโมงครึ่ง และมีเรือเร็วนำเที่ยวเช้าไปเย็นกลับ ออกจากอ่าวนาง เวลา 09.00 น. และกลับเวลา 17.00 น. ติดต่อโทร. 0 7563 7152-3 สำหรับบริษัท อันดามัน เวฟ มาสเตอร์ จะมีเรือโดยสารออกจากท่าเรือเจ้าฟ้า เรือออกเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ค่าโดยสารคนละ 200 บาท สนใจสอบถามได้ที่ บริษัท เอ ดี วี จำกัด ถนนข้าวสาร โทร. 0 2281 1463-5 หรือ บริษัท อันดามัน เวฟ มาสเตอร์ จำกัด โทร. 0 7563 0471 ส่วนการเดินทางจากภูเก็ตมีเรือนำเที่ยวเกาะพีพีแบบเช้าไปเย็นกลับ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่บริษัททัวร์ทั่วไปในตัวเมืองภูเก็ต
นอกจากนี้บริเวณอ่าวต้นไทรบนเกาะพีพีดอน มีเรือหางยาวให้เช่าไปเที่ยวตามชายหาดต่าง ๆ รวมถึงเกาะพีพีเลด้วย บริษัท พีพี แฟมิลี่ จำกัด โทร. 0 7561 2463
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พ.พ.4 (ทับแขก) เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ ใช้เส้นทางตามทางหลวง 4200 จนถึงสี่แยกคลองจิหลาด เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 4034 ตรงไปถึงสามแยกบ้านหนองทะเล เลี้ยวซ้ายตรงไปบ้านคลองม่วง และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงไปที่ทำการหน่วยพิทักษ์ฯ ระยะทาง 38 กิโลเมตร พื้นที่เป็นภูเขาที่สมบูรณ์ด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า มีจุดชมวิวที่สวยงามคือหงอนนาค ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของทะเลกระบี่ได้อย่างสวยงาม หน่วยพิทักษ์ฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ต้องมีคนนำทาง


เกาะพยาม เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากเกาะช้าง อยู่ห่างเกาะช้างมา ทางใต้ 4 กิโลเมตร ตอนกลางของเกาะพื้นที่เป็นภูเขามีป่าไม้และสัตว์ป่าประเภทนก ลิงและหมูป่า พื้นที่บางส่วนถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวน ชาวบ้านบนเกาะมีอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยางและสวนกาหยู
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รอบๆ ชายฝั่งเป็นอ่าวสลับกับโขดหิน บริเวณตอนกลางของอ่าวเป็นหาดทราย ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าเกาะ มี อ่าวไผ่ อยู่เหนือสุด ถัดมาเป็นอ่าวหินขาว ลงมาอีกหน่อยบริเวณอ่าวแม่หม้ายช่วงหน้าวัดที่มีสะพานทางเดินไปสู่โบสถ์ที่ยื่นลงไปในทะเล ถัดไปเป็นสะพานท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ของเกาะพยาม ใกล้เคียงจะมีเรือประมงของชาวบ้านจอดพัก บริเวณอ่าวแม่หม้ายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าของเกาะพยาม พ้นจากอ่าวแม่หม้ายผ่านแหลมหินลงมาทางใต้ จะเห็น อ่าวมุก ใกล้ๆกันห่างฝั่งไม่มากนักคือ เกาะขาม เกาะเล็ก ๆ ที่เมื่อยามน้ำขึ้นเห็นแยกเป็นสองเกาะ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า เกาะปลาวาฬ สืบเนื่องจากรูปร่างของเกาะเมื่อน้ำลดจะมีสันทรายกว้างใหญเป็นทางเดินเชื่อมทั้งสองเกาะเข้าหากัน
ฝั่งตะวันตกที่หันหน้าสู่ทะเลอันดามัน เหนือสุดเป็นโขดหิน ถัดพ้นลงมา อ่าวเขาควาย อ่าวที่มีหาดทรายกว้างทอดยาวโค้งเหมือนเขาควายกว่า 4 กิโลเมตร วกลงมาทางใต้ผ่านโขดหินลงผ่าน แหลมหรั่ง ลงมาถึง อ่าวใหญ่ ชายหาดของอ่าวถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยลำคลองเล็ก ๆ หาดทรายของอ่าวใหญ่เป็นหาดทรายกว้างแบบเดียวกันกับหาดทรายของ อ่าวเขาควาย
เกาะพยามเป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง มีประชากรประมาณ 500 คน บนเกาะมีสถานีอนามัย โรงเรียน และวัดที่มีพระอุโบสถกลางน้ำบนหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ มองเห็นสวยเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล มีท่าเทียบเรือประมงแบบคอนกรีตที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา มีถนนเล็ก ๆ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังอ่าวต่าง ๆ บนเกาะ ปัจจุบันยังไม่มีไฟฟ้าใช้ คงมีแต่ไฟฟ้าของเอกชนที่ปั่นไฟฟ้าใช้ในกิจการของตนเอง ชาวเกาะพยามรุ่นแรก ๆ อพยพมาจากเกาะสมุย เกาะพยามเป็นแหล่งผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพดี จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งกาหยูหวานของจังหวัดระนอง อ่าวแม่หม้ายเป็นประตูใหญ่สู่เกาะพยาม หน้าอ่าวมีสะพานท่าเทียบเรือเมื่อเดินเข้าถึงฝั่งมีป้ายต้อนรับผู้มาเยือน มีเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงรายทั้ง 2 ฟากของสะพาน บริเวณใกล้เคียงแหล่งชุมนุมหลัก มีร้านขายอาหารและของใช้ประจำวัน เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายหลักที่ ลักษณะเป็นถนนคอนกรีตความกว้างประมาณ 3 เมตร ตัดผ่านชุมนุมเลียบอ่าวแม่หม้าย มีทางแยกตัดตรงไปสู่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรของเกาะ มีมอเตอร์ไซด์รับจ้างและให้เช่าที่บริเวณตลาด มีแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรและแสดงลักษณะพื้นผิวของเกาะที่เป็นพื้นทราย แหล่งปะการัง และโขดหิน
การเดินทางมายังเกาะพยาม : ท่าเทียบเรือไปเกาะพยามใช้ร่วมกับเกาะช้าง อยู่ในซอยข้างสถานีตำรวจปากน้ำ ปกติจะมีเรือเมล์เดินทางออกจากท่าเรือระนองไปยังเกาะพยามทุกวัน วันละ 2 เที่ยว เที่ยวเช้าเวลา 09.00 น. และเที่ยวบ่ายเวลา 14.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เที่ยวกลับจะมีเรือออกจากท่าเทียบเรือเกาะพยามทุกวันเวลา 08.00 น.และเวลา 15.00 น. จากท่าเทียบเรือบนเกาะพยามจะต้องอาศัยมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปส่งยังบังกะโลที่พักซึ่งอยู่ห่างออกไป ประมาณ 5 กิโลเมตรสำหรับอ่าวใหญ่ และประมาณ 2 กิโลเมตรเศษสำหรับอ่าวเขาควาย บังกะโลที่พักบนเกาะพยาม : มีบังกะโลแบบมาตรฐานที่มีบริการที่พัก อาหาร และบริการนำเที่ยว และบังกะโลที่เป็นแบบของชาวบ้านทั่วไปที่ให้บริการที่พักและอาหรแบบชาวบ้าน เช่นเดียวกับบังกะโลบนเกาะช้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น