วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวภาคกลาง








อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี น้ำตกเอราวัณเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยอาณาเขตกว้างขวางประกอบไปด้วยภูเขาสูง หน้าผา น้ำตก ถ้ำ และทิวทัศน์ที่งดงามตามธรรมชาติ ทั้งการคมนาคมที่สะดวก จึงทำให้อุทยานแห่งชาติเอราวัณเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก โดยมีเนื้อที่ประมาณ 550 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,750 ไร่
การเดินทาง : การเดินทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ สายที่ 1 เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 ถึงเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 66 กิโลเมตร สายที่ 2 เดินทางมาจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ตอนใต้น้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 323 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-579-7223, 02-579-5734 ลักษณะภูมิประเทศ : อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 165.966 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ โดยภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน(Lime stone) ในแถบตะวันออกของพื้นที่จะยกสูงขึ้นเป็นแนว โดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณ จะมีลักษณะเป็นหน้าผา ในพื้นที่ซีกตะวันออกจะมีลำห้วยที่สำคัญคือ ห้วยม่องไล่ และห้วยอมตะลา ซึ่งไหลมาบรรจบกันกลายมาเป็นน้ำตกเอราวัณ ทางตอนเหนือของพื้นที่จะพบห้วยสะแดะ และห้วยหนองมน โดยห้วยสะแดะจะระบายน้ำลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนห้วยหนองมนจะไหลไปรวมกับห้วยไทรโยค ก่อให้เกิดน้ำตกไทรโยค ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ลำห้วยเขาพัง ก่อให้เกิดน้ำตกที่สวยงามซึ่งเรียกกันว่าน้ำตกเขาพัง หรือน้ำตกไทรโยคน้อย ลักษณะภูมิอากาศ : อุทยานแห่งชาติเอราวัณ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือช่วยพัดพาให้เกิดฝน เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน จึงมีปริมาณน้ำฝนตกไม่มากนักและอากาศค่อนข้างร้อน จากลักษณะอากาศดังกล่าว จึงไม่เป็นปัญหาต่อการเที่ยวชมอุทยานฯในแต่ละฤดู พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า : สภาพป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนทอง มะกอก ยมหอม ตะแบก ฯลฯ นอกนั้นเป็นป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้คือ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม เป็นต้น สัตว์ป่าประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ นกแว่น นกกระแตแต้แว้ด ไก่ฟ้าพญาลอ นกกะปูด นกกางเขนดง นกสาลิกา นกขุนทอง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า กระต่ายป่า กระรอกบิน เสือ เป็นต้น น้ำตกเอราวัณเป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตรติดต่อกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆได้ 7 ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นมีความสวยงาม ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่าหลายชนิดบนคาคบไม้ สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง และเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมีคุณค่าของป่าเขาลำเนาไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่หาความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตก เมื่อมีน้ำตกไหลบ่าจะมีรูปคล้ายหัวช้างเอราวัณจนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่าน้ำตกเอราวัณ น้ำตกผาลั่นเป็นน้ำตกชั้นเดียวมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ถ้ำพระธาตุเป็นถ้ำที่สวยงาม มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 790 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 12 กิโลเมตร ถ้ำวังบาดาลเป็นถ้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็นห้องๆ มีหินงอกหินย้อย ที่เป็นประกาย รูปลักษณะต่างๆกัน อยู่ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 54 กิโลเมตร เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 1. เส้นทางขันหมากหมูกลิ้งเป็นเส้นทางเดินเท้าระยะทาง 1,390 เมตร เป็นเส้นทางเดินเป็นวงกลม เริ่มจากสถานที่จอดรถและวนกลับมาลานจอดรถเหมือนเดิม เป็นเส้นทางเดินสบาย ใช้เวลาในการเดินตลอดเส้นทาง ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยตลอดเส้นทางจะปรากฎความหลากหลายของสังคมพืช สามารถจำแนกชนิดของป่าออกตาม ลักษณะของสังคมพืชได้เป็น 2 ชนิด คือ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เส้นทางนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นเส้นทางเดินที่ไม่ลำบากมากนัก จุดเด่นของเส้นทางนี้ก็คือ ว่านขันหมากและกล้วยไม้ดินหมูกลิ้งที่มีมากในเส้นทาง สถานีในเส้นทางนี้ประกอบด้วย บ้านโบราณ-ผู้ย่อยสลาย-พรมธรรมชาติ-เหลือแต่ตอ-ยาอายุวัฒนะ- หญ้าที่สูงที่สุดในโลก-ความพิการของต้นไม้-หมูกลิ้ง-สังคมใหม่ 2. เส้นทางเขาหินล้านปีเป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,940 เมตร เริ่มต้นจากลานจอดรถไปบรรจบกับ เส้นทางในน้ำตกบริเวณสะพานน้ำตกชั้นที่ 4 ใช้เวลาเดินประมาณสองชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะปรากฏความหลากหลายของสังคมพืช สามารถจำแนกลักษณะของป่าออกเป็น 3 ชนิด คือ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง และในเส้นทางนี้จะมีจุดชมวิวที่สวยงามหลายจุด สามารถมองเห็น น้ำตก(หัวช้างเอราวัณ) ในฤดูน้ำหลากได้ชัดเจนที่สุด และใกล้ที่สุดอีกด้วย เส้นทางนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความท้าทาย และจะต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงพอสมควร จุดเด่นของเส้นทางนี้ จะเป็นภูเขาหินปูนและความหลากหลายทางธรรมชาติ สถานี้ในเส้นทางนี้ประกอบด้วย การทดแทน-บ้านโบราณ-บ้านเลียงผา-เล็กพริกขี้หนู-กล้วยไม้ดิน-หินแยก- จันทร์ผาล้านปี-ป่าเต็งรัง-อัญมณีแห่งป่า-เขาหินล้านปี-ผาไทรงาม-ป่าดิบแล้ง 3. เส้นทางป่าดิบแล้งม่องไล่เป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,010 เมตร เป็นเส้นทางเดินเลียบริมห้วยม่องไล่ เริ่มจากสะพานค่ายพัก ไปบรรจบเส้นทางเดินในน้ำตกชั้นที่ 3 เส้นทางจะเลาะแนวน้ำตกเกือบตลอดเส้นทาง สภาพป่าในเส้นทางนี้จะเป็นป่าดิบแล้ง และป่าทดแทน เส้นทางนี้เหมาะสำหรับบุคคลที่ชอบเดินสบายไม่ลำบากมากนัก และมีความต้องการที่จะเดินชมน้ำตก เหมาะสำหรับบุคคลทุกวัย จุดเด่นของเส้นทางนี้อยู่ที่ความหลากหลายของป่าดิบแล้ง ที่มีพรรณไม้หลากหลายชนิด และความร่มรื่นของเส้นทาง และได้ชมน้ำตกด้วย สถานี้ในเส้นทางประกอบไปด้วย กระจอกที่ไม่กระจอก-รากไม้มหัศจรรย์-การปรับตัวของไม้ใหญ่-ภัยธรรมชาติ- แก่หรือไม่แก่-เกิดจากป่า-ภัตตาคารป่า-ชีวิตใหม่ในป่าทดแทน 4. เส้นทางถ้ำวังบาดาลเป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,350 เมตร เริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ (วังบาดาล) ผ่านป่าไผ่และป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตลอดเส้นทางจะพบพืชที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยครั้งนัก เช่น เห็ดถ้วยและดอกดิน ที่จะพบได้ในฤดูฝน เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะไปชมถ้ำวังบาดาล จุดเด่นของเส้นทางนี้ก็คือ ถ้ำวังบาดาลนั่นเอง สถานีในเส้นทางประกอบไปด้วย หญ้าหนามที่แข็งที่สุดในโลก-แหธรรมชาติ-ไม้มหัศจรรย์-ป่าดิบแล้ง-ค้ำยัน-ถ้ำวังบาดาล




ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ถนนสละชีพ เป็นศิลปะเแบบลพบุรี สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมืองนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง
วัดถ้ำเขาคั่นกระได ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีทางเข้าแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๓๑๔ เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดเล็กประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ในอดีตถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝนอ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ อ่าวมะนาว ทั้ง ๓ อ่าวอยู่หน้าเมืองประจวบฯมีทิวทัศน์สวยงามเหมาะต่อการออกกำลังกายเช่น วิ่ง ขี่จักรยานเลียบชายทะเล โดยอ่าวน้อยและอ่าวประจวบฯมีถนนเลียบชายหาดเชื่อมโยงถึงกัน อ่าวน้อย มีทิวสนขนานไปกับถนน อ่าวประจวบฯ มีบาทวิถีให้เดินชมทะเลได้อย่างใกล้ชิดส่วนอ่าวมะนาว ซึ่งอยู่ในเขตกองบินที่ ๕๓ กองทัพอากาศ เป็นหาดที่เหมาะแก่การเล่นน้ำตรงข้ามกับหาดเป็นเขาล้อมหมวก ยามน้ำลดจะปรากฏสันทรายทอดยาวให้เดินไปเที่ยวชมได้อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์วีรชนและจัดงานวันรำลึกวีรกรรม ๘ ธันวาคม ทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักผ่อนได้มีร้านอาหารและบริการบ้านพัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบิน ๕๓ โทร. (๐๓๒) ๖๖๑๐๘๘ ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเขาช่องกระจก เป็นภูเขาขนาดเล็กมีลิงเสนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันไดขึ้นไปจนถึงยอดเขา เป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธบาทจำลอง ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งดูคล้ายกับกรอบของกระจก จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง และอ่าวทั้งสามได้อย่างสวยงามอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ของไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแห่งนี้ และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ และทูตานุฑูตชาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จากตัวเมืองเดินทางมาทางทิศใต้ ๑๒ กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ ๓๓๕–๓๓๖ จะมีทางแยกเข้าหว้ากอทางด้านซ้ายมือ ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย อาคารดาราศาสตร์และอวกาศ พิพิธภัณฑ์บ้านหว้ากอ และในอนาคตจะมี พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ท้องฟ้าจำลอง สถานีรถไฟหว้ากอ เป็นต้น



ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน ๙๙๙ ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ ๑๐๐ ปี
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนอาคารหลัก ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน และ อีกส่วนคือส่วนอาคารผนวก ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ของศูนย์แห่งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นคือ การพยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยการนำเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาใช้จัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น ๕ หัวข้อ คือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติ และชีวิตชุมชนชาวบ้านไทย ทั้งนี้นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการมาแล้ว ศูนย์แห่งนี้เปิดทำการทุกวัน(วันจันทร์-ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐น.) อัตราค่าเข้าชมสำหรับนักเรียน และนักศึกษา ในเครื่องแบบ ๕ บาท ประชาชนทั่วไป ๒๐ บาท นักเรียนต่างชาติ ๕๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (๐๓๕)๒๔๕๑๒๓-๔วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” เพราะแต่เดิมนั้นพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว วัดนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ ๒ ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง ๖ องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย ๕ องค์และในประเทศอินโดนีเซีย ๑ องค์ ในประเทศไทยอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ๒ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ๑ องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณนอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำ ทองกร พาหุรัด ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆเป็นต้น แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (๐๓๕) ๒๔๑๕๘๗คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๓๗ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ปรีดี พนมยงค์นายรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปีพ.ศ.๒๔๙๙ และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้ การเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม จะเห็นสามแยกแล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือปางช้างอยุธยา แล เพนียด อยู่ติดกับคุ้มขุนแผน มีบริการขี่ช้างทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐น. ราคาประมาณ ๑๐๐-๕๐๐ บาทขึ้นอยู่กับระยะเวลา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. (๐๓๕) ๒๑๑๐๐๑, ๓๒๑๙๘๒, (๐๑)๘๒๑-๗๐๖๕, (๐๑)๘๓๒-๕๓๑๑, (๐๑)๘๕๒–๔๕๒๗วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตรและสูง ๑๒.๔๕ เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพ.ศ.๒๑๔๕สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ผ่าลงมาไหม้เครื่องบนพระมณฑปเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นหลังคาพระวิหารธรรมดาแทน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเฑียรให้เป็นวัดภายในพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒โปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๕ องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางในปัจจุบันเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระบรมเชษฐา ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๐๔๒ ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปีพ.ศ.๒๐๔๓ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา(๑๖ เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (ประมาณ ๑๗๑ กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหารถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงพ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด สำหรับเจดีย์องค์ที่สาม ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังการะหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั้นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างเพิ่มในภายหลัง ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐–๑๖.๓๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๓ โทร (๐๓๕) ๒๔๒๕๐๑, ๒๔๒๔๔๘ หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐น.-๒๑.๐๐น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถานพระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่๑(พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อพ.ศ.๑๘๙๐ และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปีพ.ศ.๑๘๙๓ จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรีบริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุขหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม ๒ ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๖ เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ
พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันถึงห้าชั้น มีมุขเด็จยื่นออกมาเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลงมีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ติดกำแพงริมแม่น้ำ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ ตามพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้อัญเชิญพระบรมศพจากเมืองลพบุรีมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๑๗๕ พระราชทานนามว่า“พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์’’”คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น“พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกหัดทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระที่นั่งตรีมุข เป็นพระที่นั่งศาลาไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยาน เป็นพระที่นั่งองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หรือ พระที่นั่งท้ายสระ เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับอยู่ข้างในและเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถเมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑ และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
พระที่นั่งทรงปืน เป็นพระที่นั่งรูปยาวรี อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงคก์รัตนาสน์ เข้าใจว่าเป็นที่สำหรับฝึกซ้อมอาวุธและในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น